
5 การฝึกซ้อมแบบผิดๆ ที่นักวิ่งมือใหม่มักจะทำ
นี่คือการฝึกซ้อมที่นักวิ่งมือใหม่หลายคนมักจะทำ แต่ความจริงแล้วมันคือการฝึกซ้อมที่ผิด...
1. ซ้อมหนัก และเร่งตัวเองเกินไป
กิจกรรมการวิ่ง ถือเป็นสิ่งที่ใช้ร่างกายหนักพอสมควร
ซึ่งในหลายปัจจัย การวิ่งให้ได้ผลดีนั้นทุกอย่างต้องสอดคล้องไปพร้อมๆ กัน ทั้งสภาพร่างกาย การวอร์มอัพที่ถูกต้อง การกำหนดแผนซ้อมที่เหมาะสมกับตัวเรา รวมถึงการวอร์มดาวน์และการพักผ่อน
นักวิ่งหลายคนมุ่งเป้าไปที่ความต้องการที่จะพัฒนาขึ้นเร็วๆ จนทำให้เร่งรีบซ้อมหนักหรือเร่งรัดตัวเองมากไป อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งทำให้การพัฒนาของนักวิ่งหยุดชะงัก นั่นไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน
อย่างที่เราบอกหลายครั้งก็คือซ้อมให้ต่อเนื่อง ตามสภาพที่ร่างกายไหวและจัดวันพักให้ร่างกายได้ฟื้นฟูโดยไม่หนักเกินไป จะมีพัฒนาการที่ดีกว่าการเร่งรีบฝึกซ้อมเอาเป็นเอาตายแน่นอน
2. มองเพียงการวิ่งให้เร็วขึ้น
แน่นอนว่านักวิ่งสายแข่งขัน ย่อมฝึกซ้อมหนักเพื่อจะทำเวลาในการแข่งให้เร็วขึ้น จะได้มีผลงานและสถิติที่ดีขึ้น
นักวิ่งจึงโฟกัสไปที่การฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มความเร็วเพียวอย่างเดียว แต่การซ้อมวิ่งเร็วนั้นไม่ได้เหมาะกับทุกสภาพที่เราเจอ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นในช่วงอากาศร้อน การฝึกวิ่งเร็วนั้นทำให้เราเหนื่อยได้ง่ายกว่าในวันธรรมดา ซึ่งก็อย่างที่ทราบวันในบ้านเราร้อนเกือบทุกวัน อีกทั้งถ้าสภาพพื้นที่ฝึกไม่เอื้ออำนวย การวิ่งเร็วของเราก็จะทำได้ไม่ต่อเนื่อง
กูรูวิ่ง หล่นความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า อย่าเอาความเร็วในการวิ่งเป็นตัวตั้ง แต่เอามันเป็นผลลัพท์ดีกว่า พูดง่ายๆ ว่าหากคุณฝึกซ้อมอย่างถูกต้อง ผลลัพท์ที่ออกมาก็คือการวิ่งที่เร็วขึ้นอย่างที่คุณต้องการนั่นเอง
3. พักไม่เพียงพอในช่วงฟื้นฟูร่างกาย
ต่อให้คุณเป็นมนุษย์เหล็กขนาดไหน ก็ย่อมต้องมีวันที่พักผ่อนฟื้นฟูร่างกายบ้าง ไม่ว่าจะเป็นพักจากการซ้อมหนัก หรือพักฟื้นหลังเพิ่งผ่านงานวิ่งมาหมาดๆ ก็ตาม
ก็อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่าแล้วเราพักขนาดนี้มาพอหรือยัง? ทำไมเพื่อนที่ไปวิ่งงานเดียวกับเราพักวันสองวันก็มาซ้อมวิ่งต่อได้แล้ว งั้นเราต้องไปวิ่งบ้าง อันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมันมีหลายปัจจัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนเรื่องฟื้นฟูร่างกาย อายุที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นหลัก นักวิ่งที่อายุมากขึ้นจะใช้เวลาพักฟื้นฟูมากกว่าเดิม
ให้ลองสังเกตสิ่งที่ร่างกายสื่อออกมา ถ้าระหว่างซ้อม ระบบการหายใจของคุณยังไม่เป็นปกติ รู้สึกไม่สบายตัว หรือทำผลงานได้ต่ำลง ก็ไม่มีเหตุผลที่คุณต้องฝืนซ้อมต่อไป นั่นร่างกายฟ้องออกมาแล้วว่าคุณยังพักไม่พอ กลับบ้านพักฟื้นต่ออีกสักหน่อยชัวร์กว่า
4. เพิ่มระยะทางลงแข่งเร็วเกินไป
มันก็เป็นอีกอย่างที่หลายคนตั้งเป้าหมายไว้ คือการต้องวิ่งฟูลมาราธอนให้ได้เร็วที่สุด
แต่ก็อย่างที่สุภาศิตเขาว่าเอาไว้ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว การวิ่งฟูลมาราธอนก็ไม่ใช่อะไรที่ "ง่าย" จนไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วจะวิ่งได้ แต่มันก็ไม่ได้ "ยาก" จนแบบว่าเราจะทำไม่ได้ เพียงแต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ต้องผ่านอะไรมาเยอะ
ถ้าคุณวิ่งระยะฮาล์ฟได้แบบสบายๆ ก็ไม่ผิดที่คุณจะวางแผนว่าครั้งต่อไปจะลงวิ่งฟูลมาราธอน แต่อย่าลืมว่าระยะทางมันห่างกันถึงครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งคุณไม่ควรเร่งตัวเองอย่างที่สุด ค่อยๆ ฝึกซ้อมเพิ่มระยะทีละน้อย และมันอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่ก็คุ้มค่ากว่ามาก หากค่อยเป็นค่อยไปแล้วได้ผล
5. จัดการซ้อมหลังฟื้นตัวจากการบาดเจ็บไม่ถูกต้อง
เข้าใจว่าบางคนนั้นคิดว่าเจ็บแค่เล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องพักนานเท่าไรก็ได้ แต่นี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ
อาการบาดเจ็บของนักกีฬา ถ้าเจ็บในแต่ละครั้งแล้วไม่ได้รับการฟื้นฟูที่ถูกต้อง ถ้ายังไม่หายดีแต่ก็มาซ้อมเต็มที่อีกมันจะกลายเป็นอาการเจ็บสะสม ซึ่งไม่ส่งผลดีในระยะยาวอย่างแน่นอน
การพักรักษาตัวและฝึกซ้อมแบบไม่หนักยามที่รอฟื้นฟูจากอาการบาดเจ็บนั้นเป็นเรื่องสำคัญ การรีบเร่งไม่ใช่เรื่องดี รอให้สภาพร่างกายสมบูรณ์ก่อนค่อยกลับมาซ้อมเต็มที่คือเรื่องที่ถูกต้อง ดังนั้นต้องคอยจัดโปรแกรมฝึกซ้อมให้เหมาะสมด้วย
Story : runnersworld